ตำนาน


          เขาปินะ เป็นภูเขาหินปูน สูงประมาณ ๑๐๐ เมตร สัญฐานเป็นรูปกลม คล้ายไข่วางบนพื้นตามระดับแนวนอน 

มีถนนลาดยางโดยรอบเชิงเขาระยะทางประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร 
ตั้งอยู่อยู่ในท้องที่ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และอยู่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลนาวง


     ในสมัยโบราณบริเวณเขาปินะนั้นน่าจะเป็นที่ราบไปจดทะเล 
เพราะถ้าขึ้นไปยืนบนถ้ำมะขาม ถ้ำจำปา หรือถ้ำล่องลมมองไปจะเห็นทัศนียภาพเบื้องหน้าเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ และคงมีป่าชายเลนมาจรดเชิงเขา
           
     ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร มีภูเขาลูกเล็ก ๆ อีกลูกหนึ่งชื่อ "เขาสำเภาเทิน" ซึ่งมีประวัติเล่ากันต่อๆ มาว่าครั้งหนึ่งพวกแขกไทรบุรีเดินเรือมาค้าขายชายฝั่งทะเลด้านมหาสมุทรอินเดีย 
ผ่านมาถึงถิ่นนี้เผอิญถูกมรสุมเรือแตก ผู้รอดตายพากันว่ายน้ำขึ้นฝั่งใกล้เนินเขาลูกหนึ่ง

      ซึ่งต่อมาเรียกว่า "เขาสำเภาเทิน" ยึดอาชีพทำไร่ ทำนา หากิน พอประทังชีวิต รอพวกพ้องที่แล่นเรือผ่านไปมาเพื่อจะขออาศัยเดินทางกลับบ้าน แต่ไม่ปรากฏว่ามีเรือแล่นผ่านมาเลย 
           
      คนพวกนี้จึงต้องอาศัยที่นี่  ต่อมาอีกนาน เกิดลูกเกิดหลาน กลายเป็นชุมชนย่อย ๆ นานวันเข้าก็มีพื้นที่ทำกินกว้างออกไปรอบเขาลูกนี้ ลูกหลานก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จึงต้องคิดขยับขยายถิ่นฐานที่ทำมาหากินออกไป 

        พวกหนึ่งได้แยกย้ายมาอยู่ที่ภูเขาอีกลูกหนึ่ง ใช้ถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อความปลอดภัยจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ เรียกเขาลูกนี้ว่า "เขาปินะ" ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่า โยกย้าย
           
        ต่อมาอีกหลายสิบปีก็มีลูกหลานเพิ่มมากขึ้น พวกเขาจึงได้ตั้งหัวหน้าขึ้นคนหนึ่งช่อ "โต๊ะมูล" ได้สร้างสุเหร่าไว้ในหมู่บ้าน เพื่อประกอบศาสนกิจ โต๊ะมูลมีพื้นที่กว้างขวางออกไป และในปัจจุบันนี้ยังมีชื่อเรียกกันอยู่ว่า "บ้านนาโต๊ะมูล" ตามชื่อเจ้าของเดิม 

            ในระหว่างนั้นมีคนไทยพุทธอยู่น้อย ครั้นต่อมามีคนไทยมาทำมาหากินมากขึ้นทุกที จนคนแขกที่อยู่เดิมต้องถอยที่ออกไป จนหมดหรือสาปสูญไป ชุมชนนี้จึงเป็นชุมชนของไทยพุทธแต่นั้นมา


ที่มา:
 

ภาพประกอบ: เว็ปไซต์ www.google map
ประวัติ:เว็ปไซต์ www.watnawong.ac.th